ข้อสอบออนไลน์ชุดใหม่ล่าสุด

Monday, January 8, 2018

หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขัน ครูผู้ช่วย ปี 2561

(ร่าง) หลักเกณฑ์และวิธีการสอบแข่งขัน
เพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการ
เป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
ตำแหน่งครูผู้ช่วย
ที่ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุม ก.ค.ศ.ในครั้งนี้

การสอบ มีหลักสูตร 3 ภาค คือ
   1) สอบเพื่อวัดความรู้ความสามารถทั่วไป (ภาค ก) (200 คะแนน)
   2) สอบแข่งขันเพื่อวัดความรู้ความสามารถที่ใช้เฉพาะตำแหน่ง (ภาค ข) (150 คะแนน)
   3) การประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง (ภาค ค) (50 คะแนน)
   การสอบ ภาค ก ให้ดำเนินการ ดังนี้
1) คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสอบ ต้องเป็นผู้สำเร็จการศึกษา หรือกำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนสุดท้าย ของหลักสูตรไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา หรือทางอื่น ที่ ก.ค.ศ. กำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่ง โดยคุณวุฒิที่นำมาใช้สมัครสอบต้องได้รับรองจาก ก.ค.ศ.
2) ให้ ก.ค.ศ. เป็นผู้กำหนดวัน เวลา และวิธีการในการสอบ
3) ให้ ก.ค.ศ. หรือหน่วยงานที่ ก.ค.ศ. เห็นสมควรเป็นผู้ดำเนินการสอบ โดยให้ ก.ค.ศ. ตั้งคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่รับผิดชอบการสอบได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
4) รับสมัครไม่น้อยกว่า 15 วัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ โดยให้ยื่นสมัครทางอิเล็กทรอนิกส์ตามแบบที่กำหนด พร้อมด้วยค่าธรรมเนียมการสมัครสอบ ในอัตราครั้งละ 100 บาท กรณีจัดให้มีการสมัครและสอบด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้ผู้สมัครสอบเสียค่าธรรมเนียมฯ ในอัตราครั้งละ 300 บาท
5) เกณฑ์การตัดสิน ประกาศรายชื่อผู้สอบผ่านภาค ก เฉพาะผู้ที่ได้คะแนนวิชาความสามารถทั่วไปและวิชาภาษาไทยไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 และได้คะแนนวิชาภาษาอังกฤษไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 และออกหนังสือรับรองผลการสอบผ่าน ภาค ก ให้แก่ผู้สอบผ่าน เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการสอบแข่งขัน
ภาค ข และเพื่อประเมินภาค ค
6) ผู้ได้รับหนังสือรับรองผลการสอบ ภาค ก ของ ก.พ. สามารถนำมาใช้เป็นหลักฐานประกอบการสมัครสอบแข่งขันภาค ข และเพื่อประเมินภาค ค ได้ โดยผู้ได้รับหนังสือรับรองฉบับดังกล่าว ต้องเสนอให้สำนักงาน ก.ค.ศ. รับรอง ก่อนนำไปสอบแข่งขัน พร้อมชำระค่าธรรมเนียมในอัตรา 100 บาท
   การสอบแข่งขัน ภาค ข และการประเมินภาค ค ให้ดำเนินการ ดังนี้
1) ให้ส่วนราชการ และ กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง แล้วแต่กรณี เป็นผู้ดำเนินการสอบแข่งขัน ภาค ข และประเมินภาค ค
2) คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครสอบ        - ต้องมีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับผู้ดำรงตำแหน่งครูผู้ช่วย ตามมาตรฐานตำแหน่งที่ ก.ค.ศ. กำหนด
        - ต้องมีหนังสือรับรองผลการสอบผ่านภาค ก ของ ก.ค.ศ. หรือของ ก.พ. ที่ ก.ค.ศ. รับรองแล้ว
3) ให้ส่วนราชการกำหนดวัน เวลาและวิธีการในการสอบ และออกข้อสอบภาค ข กำหนด กำหนดวิธีการสอบ ตรวจคำตอบและประมวลผล และกำหนดองค์ประกอบการประเมิน ตัวชี้วัด และสัดส่วนคะแนนการประเมินภาค ค
4) ให้ กศจ. หรือ อ.ก.ค.ศ. ที่ ก.ค.ศ. ตั้ง ดำเนินการ ดังนี้
        - กำหนดจำนวนตำแหน่งว่าง ตามกลุ่มวิชา หรือทางหรือสาขาวิชาเอก ที่จะใช้สอบภาค ข ตามความต้องการของสถานศึกษา และแจ้งส่วนราชการ
        - ดำเนินการสอบแข่งขัน ภาค ข ตามวิธีที่ส่วนราชการกำหนด และประเมินภาค ค โดยวิธีการสัมภาษณ์ หรือวิธีการอื่นที่เหมาะสม
        - ตั้งคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่รับผิดชอบการสอบแข่งขันได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม
        - รับสมัครไม่น้อยกว่า 7 วัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ และให้ยื่นใบสมัครตามแบบหรือวิธีการที่กำหนด พร้อมค่าธรรมเนียมการสอบ ในอัตราครั้งละ 100 บาท
        - กรณีมีการดำเนินการสอบแข่งขัน ภาค ข และประเมินภาค ค พร้อมกัน ให้ผู้สมัครสอบ เลือกสมัครสอบได้เพียงแห่งเดียว หากปรากฏว่าผู้สมัครสอบสมัครเกินกว่าหนึ่งแห่ง จะตัดสิทธิการสอบแข่งขันทั้งหมด
        - ตั้งคณะกรรมการประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง ภาค ค ตามองค์ประกอบฯ ที่กำหนด จำนวนชุดละ 5 คน
         - เกณฑ์การตัดสิน ต้องได้คะแนนแต่ละภาคไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 โดยเรียงลำดับที่จากผู้ที่ได้คะแนนรวมภาค ข และภาค ค จากมากไปหาน้อย
        - บัญชีผู้สอบแข่งขันได้ ให้ใช้ได้ไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ประกาศขึ้นบัญชี
ทั้งนี้ สำหรับการสอบภาค ก เห็นควรมอบ สทศ. เป็นผู้ดำเนินการสอบ และในปี พ.ศ.2561 จะเลื่อนการสอบแข่งขันออกไปก่อน คาดว่าน่าจะเริ่มรับสมัครสอบได้ในราวเดือนสิงหาคม 2561 เพื่อให้สามารถบรรจุครูผู้ช่วยได้ในเดือนตุลาคม 2561