ข้อสอบออนไลน์ชุดใหม่ล่าสุด

Monday, March 2, 2015

ภาค ข 1.6 การวิจัยทางการศึกษา

ภาค ข 1.6 การวิจัยทางการศึกษา

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวิจัย

fe………………. fe

รศ.พ.ต.อ.หญิง ดร.พัชรา  สินลอยมา·

วิธีการเสาะแสวงหาความรู้ (Methods of acquiring knowledge)
มนุษย์มีความสนใจในสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวมานานนับตั้งแต่ยุคเริ่มแรกมาแล้ว โดยเฉพาะความรู้ต่าง ๆ เพื่อที่จะนำมาแก้ไขปัญหาต่าง ๆที่อยู่รอบตัว ความรู้ต่าง ๆ ของมนุษย์ ในปัจจุบันนี้ประกอบด้วย ข้อเท็จจริงและ ทฤษฎีต่าง ๆ ซึ่งนับวันจะมีข้อค้นพบมากยิ่งขึ้นไปตามระยะเวลา ซึ่งความรู้เหล่านี้ช่วยให้มนุษย์มีความรู้ ความเข้าใจ สามารถที่จะอธิบาย ควบคุมหรือพยากรณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ ในสถานการณ์ที่กำหนดให้ได้ การเสาะแสวงหาความรู้ของมนุษย์มิใช่กระบวนการที่เกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ แต่เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยสติปัญญา และการฝึกฝนต่าง ๆ ซึ่งมีวิธีการเสาะแสวงหาความรู้ของมนุษย์จำแนกได้ดังนี้
1.   วิธีโบราณ (Older methods) ในสมัยโบราณมนุษย์ได้ความรู้มาโดย
1.1    การสอบถามผู้รู้หรือผู้มีอำนาจ (Authority) เป็นการได้ความรู้จากการสอบถามผู้รู้ หรือผู้มีอำนาจ เช่น ในสมัยโบราณเกิดโรคระบาด ผู้คนก็จะถามจากผู้ที่มีอำนาจว่าควรทำ อย่างไร ซึ่งในสมัยนั้นผู้มีอำนาจก็จะแนะนำให้ทำพิธีสวดมนต์อ้อนวอนต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ ให้ช่วยคลี่คลายเหตุการณ์ต่าง ๆ คนจึงเชื่อถือโดยไม่มีการพิสูจน์
1.2    ความบังเอิญ (Chance) เป็นการได้ความรู้มาโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งไม่ได้เจตนาที่จะศึกษาเรื่องนั้นโดยตรง แต่บังเอิญเกิดเหตุการณ์หรือปรากฏการณ์บางอย่างทำให้มนุษย์ได้รับความรู้นั้น เช่น เพนนิซิลินจากราขนมปัง
1.3    ขนบธรรมเนียมประเพณี (Tradition) เป็นการได้ความรู้มาจากสิ่งที่คนในสังคมประพฤติปฏิบัติสืบทอดกันมาจนเป็นขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรม ผู้ที่ใช้วิธีการนี้ ควรตระหนักด้วยว่าสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีตจนเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีนั้น ไม่ใช่จะเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเที่ยงตรงเสมอไป ดังนั้นผู้ที่ใช้วิธีการนี้ควรจะได้นำมาประเมินอย่างรอบคอบเสียก่อนที่จะยอมรับว่าเป็นข้อเท็จจริง      
1.4    ผู้เชี่ยวชาญ (Expert) เป็นการได้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง เมื่อมีปัญหาหรือต้องการคำตอบเกี่ยวกับเรื่องใดก็ไปถามผู้เชี่ยวชาญ เฉพาะเรื่องนั้น เช่น เรื่องดวงดาวต่าง ๆ ในท้องฟ้าจากนักดาราศาสตร์ เรื่องความเจ็บป่วยจากนายแพทย์
1.5    ประสบการณ์ส่วนตัว (Personal experience) เป็นการได้ความรู้จากประสบการณ์ที่ตนเคยผ่านมา  ประสบการณ์ของแต่ละบุคคลช่วยเพิ่มความรู้ให้บุคคลนั้น เมื่อประสบปัญหาก็พยายามระลึกถึงเหตุการณ ์หรือวิธีการแก้ปัญหาในอดีตเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาที่ประสบอยู่      
1.6    การลองผิดลองถูก (Trial and error) เป็นการได้ความรู้มาโดยการลอง แก้ปัญหาเฉพาะหน้า หรือปัญหาที่ไม่เคยทราบมาก่อน เมื่อแก้ปัญหานั้นได้ถูกต้องเป็นที่พึงพอใจ ก็จะกลายเป็นความรู้ใหม่ที่จดจำไว้ใช้ต่อไป ถ้าแก้ปัญหาผิดก็จะไม่ใช้วิธีการนี้อีก
2.   วิธีการอนุมาน (Deductive method) คิดขึ้นโดยอริสโตเติล (Aristotle) เป็นวิธีการคิดเชิงเหตุผล ซึ่งเป็นกระบวนการคิดค้นจากเรื่องทั่ว ๆ ไปสู่เรื่องเฉพาะเจาะจง หรือคิดจากส่วนใหญ่ไปสู่ส่วนย่อยจากสิ่งที่รู้ไปสู่ สิ่งที่ไม่รู้ วิธีการอนุมานนี้จะประกอบด้วย
2.1    ข้อเท็จจริงใหญ่ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เป็นจริงอยู่ในตัวมันเอง หรือเป็นข้อตกลงที่กำหนดขึ้นเป็นกฎเกณฑ์
2.2    ข้อเท็จจริงย่อย ซึ่งมีความสัมพันธ์กับข้อเท็จจริงใหญ่ หรือเป็นเหตุผลเฉพาะกรณีที่ต้องการทราบความจริง
2.3      ผลสรุป เป็นข้อสรุปที่ได้จากการพิจารณาความสัมพันธ์ของเหตุใหญ่และเหตุย่อย      
ตัวอย่างการหาความจริงแบบนี้ เช่น 
ตัวอย่างที่ 1  ข้อเท็จจริงใหญ่ : สัตว์ทุกชนิดต้องตาย
ข้อเท็จจริงย่อย : แมวเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง
ผลสรุป : แมวต้องตาย        
ตัวอย่างที่ 2  ข้อเท็จจริงใหญ่ : ถ้าโรงเรียนถูกไฟไหม้ ครูจะเป็นอันตราย
ข้อเท็จจริงย่อย : โรงเรียนถูกไฟไหม้
ผลสรุป : ครูเป็นอันตราย    
ถึงแม้ว่าการแสวงหาความรู้โดยวิธีการอนุมาน จะเป็นวิธีการที่มีประโยชน์อย่างยิ่ง แต่ก็มีข้อจำกัด ดังนี้     
1. ผลสรุปจะถูกต้องหรือไม่ ขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงใหญ่กับข้อเท็จจริงย่อย หรือทั้งคู่ ไม่ถูกต้องก็จะทำให้ข้อสรุปพลาด ไปด้วย ดังเช่นตัวอย่างที่ 2 นั้น การที่โรงเรียนถูกไฟไหม้ ครูในโรงเรียนอาจจะไม่เป็นอันตรายเลยก็ได้
2. ผลสรุปที่ได้เป็นวิธีการสรุปจากสิ่งที่รู้ไปสู่สิ่งที่ไม่รู้ แต่วิธีการนี้ไม่ได้เป็นการยืนยันเสมอไปว่า ผลสรุปที่ได้จะเชื่อถือได้เสมอไป เนื่องจากถ้าสิ่งที่รู้แต่แรกเป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อนก็จะส่งผลให้ข้อสรุปนั้นคลาดเคลื่อนไปด้วย
3.   วิธีการอุปมาน (Inductive Method) เกิดขึ้นโดยฟรานซิส เบคอน (Francis Bacon) เนื่องจากข้อจำกัดของวิธีการอุมานในแง่ที่ว่าข้อสรุปนั้น จะเป็นจริงได้ต่อเมื่อข้อเท็จจริงจะต้องถูกเสียก่อน จึงได้เสนอแนะวิธีการเสาะแสวงหาความรู้ โดยรวบรวมข้อเท็จจริงย่อย ๆ เสียก่อนแล้วจึงสรุปรวบไปหาส่วนใหญ่ หลักในการอุปมานนั้นมีอยู่ 2 แบบด้วยกันคือ
3.1   วิธีการอุปมานแบบสมบูรณ์ (Perfect inductive method) เป็นวิธีการแสวงหาความรู้โดยรวบรวม ข้อเท็จจริงย่อย ๆ จากทุกหน่วยของกลุ่มประชากร แล้วจึงสรุปรวมไปสู่ ส่วนใหญ่ วิธีนี้ปฏิบัติได้ยากเพราะบางอย่างไม่สามารถนำมาศึกษาได้ครบทุกหน่วย นอกจากนี้ยังสิ้นเปลืองเวลา แรงงาน และค่าใช้จ่ายมาก
3.2   วิธีการอุปมานแบบไม่สมบูรณ์ (Imperfect inductive method) เป็นวิธีการ เสาะแสวงหาความรู้ โดยรวบรวมข้อเท็จจริงย่อย ๆ จากบางส่วนของกลุ่มประชากร แล้วสรุปรวมไปสู่ส่วนใหญ่ โดยที่ข้อมูลที่ศึกษานั้นถือว่าเป็นตัวแทนของสิ่งที่จะศึกษาทั้งหมด ผลสรุปหรือ ความรู้ที่ได้รับสามารถอ้างอิงไปสู่กลุ่มที่ศึกษาทั้งหมดได้ วิธีการนี้เป็นที่นิยมมากกว่าวิธีอุปมานแบบสมบูรณ์ เนื่องจากสะดวกในการปฏิบัติและประหยัดเวลา แรงงานและค่าใช้จ่าย
4.   วิธีการทางวิทยาศาสตร์ (Scientific method) เป็นการเสาะแสวงหาความรู้โดยใช้หลักการของ วิธีการอนุมานแล ะวิธีการอุปมานมาผสมผสานกัน Charles Darwin เป็นผู้ริเริ่มนำวิธีการนี้มาใช้ ซึ่งเมื่อต้องการค้นคว้าหาความรู้ หรือแก้ปัญหาในเรื่องใดก็ต้องรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องนั้นก่อน แล้วนำข้อมูลมาใช้ในการสร้างสมมติฐาน ซึ่งเป็นการคาดคะเนคำตอบล่วงหน้า ต่อจากนั้นเป็นการตรวจสอบปรับปรุงสมมติฐาน การเก็บรวบรวมข้อมูล และการทดสอบสมมติฐาน และJohn Dewey ปรับปรุงให้ดีขึ้นแล้วให้ชื่อวิธีนี้ว่า การคิดแบบใคร่ครวญรอบคอบ (reflective thinking) ซึ่งต่อมาเป็นที่รู้จักกันในชื่อของวิธีการทางวิทยาศาสตร์
วิธีการทางวิทยาศาสตร์ เป็นวิธีการเสาะแสวงหาความรู้ที่ดีในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ ปัญหาที่เกิดขึ้นในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาทางการศึกษาด้วย

ขั้นตอนของวิธีการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์
1.      ขั้นปัญหา (Problem)
2.      ขั้นตั้งสมมติฐาน (Hypothesis)
3.      ขั้นรวบรวมข้อมูล (Gathering Data)
4.      ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล (Analysis)
5.      ขั้นสรุป (Conclusion)


ขั้นตอนของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้แก้ปัญหาทางการศึกษา
1. การตระหนักถึงปัญหา ขั้นนี้ผู้เสาะแสวงหาความรู้มีความรู้สึก หรือตระหนักว่าปัญหาคืออะไร หรือมีความสงสัยใคร่รู้เกิดขึ้นว่าคำตอบของปัญหานั้นคืออะไร
2. กำหนดขอบเขตของปัญหาอย่างชัดเจนและเฉพาะเจาะจง ขั้นนี้จะต้องกำหนดขอบเขตของปัญหาที่ตนจะศึกษาหาคำตอบนั้นมีขอบเขตกว้างขวางแค่ไหน
3. กำหนดสมมติฐาน ผู้แสวงหาความรู้ คาดคะเนคำตอบของปัญหาโดยการสังเกตจากข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีอยู่
4. กำหนดเทคนิคการรวบรวมข้อมูล รวมทั้งการพัฒนาเครื่องมือที่มีคุณภาพไว้ใช้ในการรวบรวมข้อมูลที่จะตอบปัญหาที่ต้องการ
5. ร     วบรวมข้อมูล ผู้เสาะแสวงหาความรู้ นำเครื่องมือที่พัฒนาไว้ในขั้นที่ 4 มารวบรวมข้อมูลที่จะตอบปัญหาที่ต้องการทราบ
6. วิเคราะห์ข้อมูล นำข้อมูลที่รวบรวมได้ในขั้นที่ 5 มาจัดกระทำเพื่อหาคำตอบ
7. สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูล ผู้เสาะแสวงหาความรู้ สรุปผลการวิเคราะห์ข้อมูลที่ เกี่ยวข้องกับสมมติฐานที่คาดคะเนไว้บนพื้นฐานของผลที่ได้จากการวิเคราะห์ข้อมูล    

ความหมายของการวิจัย
การวิจัย ซึ่งตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Research” ถ้าจะแปลตามตัวหมายถึง การค้นหาซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งความหมายของคำว่าวิจัย ทางด้านวิชาการได้มีผู้ให้ความหมายไว้ต่าง ๆ กัน เช่น
เบสท์ (Best, 1981 อ้างถึงใน บุญเรียง ขจรศิลป์ , 2533 : 5) ได้ให้ความหมายของการวิจัยไว้ว่าเป็นวิธีการที่เป็นระบบระเบียบ และมีจุดมุ่งหมายในการวิเคราะห์ และคิดบันทึกการสังเกตที่มีการควบคุมเพื่อนำไปสู่ข้อสรุปอ้างอิง หลักการหรือทฤษฎีซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำงานและการควบคุมเหตุการณ์ต่าง ๆ ได้
รัตนะ  บัวสนธ์ (2543, 3) ได้ให้ความหมายของการวิจัยไว้ว่า เป็นการหาความจริงเชิง สาธารณะด้วยวิธีการที่เรียกว่ากระบวนการวิจัยซึ่งมีลักษณะเป็นระบบมีขั้นตอน
ผ่องพรรณ ตรัยมงคลกูล (2543 : 21) สรุปความหมายของการวิจัยไว้ว่า การวิจัยคือการศึกษาค้นคว้าอย่างมีระบบระเบียบเพื่อทำความเข้าใจปัญหาและแสวงหาคำตอบ เป็นกระบวนการที่อาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก
บุญเรียง ขจรศิลป์ (2533 : 5) ได้ให้ความหมายของคำว่า การวิจัยทางด้านวิชาการ หมายถึง กระบวนการเสาะแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ หรือกระบวนการเสาะแสวงหาความรู้เพื่อตอบปัญหาที่มีอยู่อย่างมีระบบ และมีวัตถุประสงค์ที่แน่นอน โดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์
ดังนั้น การวิจัยทางการศึกษาจึงหมายถึง กระบวนการเสาะแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ ที่เป็นความจริงเชิงตรรกะ (Logical) หรือความจริงเชิงประจักษ์ (Empirical) เพื่อตอบปัญหาทางการศึกษาอย่างมีระบบ และมีวัตถุประสงค์ที่แน่นอน โดยอาศัยวิธีการทางวิทยาศาสตร์เป็นหลัก  

ลักษณะที่สำคัญของการวิจัย      
เบสท์ (Best , 1981อ้างถึงใน บุญเรียง ขจรศิลป์ , 2533 : 5)  ได้สรุปลักษณะที่สำคัญของการวิจัยไว้ดังนี้
1. เป้าหมายของการวิจัยมุ่งที่จะหาคำตอบต่าง ๆ เพื่อจะนำมาใช้แก้ปัญหาที่มีอยู่โดยพยายามที่จะศึกษาถึงความสัมพันธ์ ระหว่าง ตัวแปรในลักษณะความเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน
2. การวิจัยเน้นถึงการพัฒนาข้อสรุป หลักเกณฑ์หรือทฤษฎีต่าง ๆ เพื่อที่จะเป็นประโยชน์ในการทำนายเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เป้าหมายของการวิจัยนั้นมิได้ หยุดอยู่เฉพาะกลุ่มตัวอย่างที่นำมาศึกษาเท่านั้น แต่ข้อสรุปที่ได้มุ่งที่จะอ้างอิงไปสู่กลุ่มประชากร เป้าหมาย
3. การวิจัยจะอาศัยข้อมูล หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่สามารถสังเกตได้รวบรวมได้ คำถามที่น่าสนใจบางคำถามไม่สามารถทำการวิจัยได้ เพราะไม่สามารถรวบรวมข้อมูลมาศึกษาได้
4. การวิจัยต้องการเครื่องมือและการรวบรวมข้อมูลที่แม่นยำ เที่ยงตรง
5. การวิจัยจะเกี่ยวข้องกับการรวบรวมข้อมูลใหม่ ๆ จากแหล่งปฐมภูมิหรือใช้ข้อมูลที่มีอยู่เดิมเพื่อหาคำตอบของวัตถุประสงค์ใหม่
6. กิจกรรมที่ใช้ในการวิจัย เป็นกิจกรรมที่กำหนดไว้อย่างมีระบบแบบแผน
7. การวิจัยต้องการผู้รู้จริงในเนื้อหาที่จะทำการวิจัย
8. การวิจัยเป็นกระบวนการที่มีเหตุผล และมีความเป็นปรนัยสามารถที่จะทำการตรวจสอบความตรงของวิธีการที่ใช้ข้อมูลที่รวบรวมมา และข้อสรุปที่ได้
9. สามารถที่จะทำซ้ำได้ โดยใช้วิธีเดียวกัน หรือวิธีการที่คล้ายคลึงกันถ้ามีการเปลี่ยนแปลงกลุ่มประชากร สถานการณ์ หรือระยะเวลา
10. การทำวิจัยนั้นจะต้องมีความอดทนและรีบร้อนไม่ได้ นักวิจัยควรจะเตรียมใจไว้ด้วยว่า อาจจะต้องมีความลำบากในบางเรื่อง ในบางกรณีที่จะแสวงหาคำตอบ ของคำถามที่ยาก ๆ
11. การเขียนรายงานการวิจัยควรจะทำอย่างละเอียดรอบคอบ ศัพท์เทคนิคที่ใช้ควรจะบัญญัติความหมายไว้ วิธีการที่ใช้ในการวิจัยอธิบายอย่างละเอียด รายงายผลการวิจัยอย่างตรงไป ตรงมาโดยไม่ใช้ความคิดเห็นส่วนตัว ไม่บิดเบือนผลการวิจัย
12. การวิจัยนั้นต้องการความซื่อสัตย์และกล้าหาญในการรายงานผลการวิจัยในบางครั้ง ซึ่งอาจจะไปขัดกับความรู้สึกหรือผลการวิจัยของคนอื่นก็ตาม


ข้อจำกัดของการวิจัยทางการศึกษา   
1.      ความซับซ้อนของเนื้อหาหรือปัญหาที่จะศึกษา
2.      ความยากในการรวบรวมข้อมูล
3.      ความยากในการทำซ้ำ
4.      ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักวิจัยและสมาชิกในกลุ่มตัวอย่าง หรือกลุ่มประชากรมีผลกระทบต่อผลการวิจัย
5.      ความยากในการควบคุมตัวแปรเกิน
6.      เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลทางการศึกษา มีความแม่นยำและเชื่อถือได้ น้อยกว่าเครื่องมือที่ใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์

ประโยชน์ของการวิจัย   
1.      ช่วยส่งเสริมความรู้ทางด้านวิชาการและศาสตร์สาขาต่าง ๆ ให้มีการค้นคว้าข้อเท็จจริงมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพราะว่าการวิจัยจะทำให้มีการค้นคว้าหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติมซึ่งทำให้วิทยาการต่าง ๆ  เจริญก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ทั้งตัวผู้วิจัยและผู้นำเอาเอกสารการวิจัยไปศึกษา
2.      2. นำความรู้ที่ได้จากการวิจัยไปใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติ หรือแก้ปัญหาโดยตรง ช่วยทำให้ผู้ปฏิบัติได้เลือกวิธีปฏิบัติที่ดีที่สุด ก่อให้เกิดการประหยัด
3.      ช่วยในการกำหนดนโยบาย หรือหลักปฏิบัติงานต่าง ๆ เป็นไปด้วยความถูกต้อง เหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
4.      ช่วยให้ค้นพบทฤษฎีและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เพื่อให้มนุษย์ได้ดำเนินชีวิตอยู่ในโลกอย่างมีความสุขสบาย
5.      ช่วยพยากรณ์ผลภายหน้าของสถานการณ์ ปรากฏการณ์และพฤติกรรมต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง

การจัดประเภทการวิจัย
การจัดประเภทการวิจัยทางการศึกษานั้นสามารถจัดได้หลายแบบแล้วแต่ว่าจะใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง ซึ่งพอสรุป ได้ดังนี้
1. ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง
          - เชิงประวัติศาสตร์
          - เชิงบรรยาย
          - เชิงทดลอง
2. ใช้จุดมุ่งหมายของงานวิจัยเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง
         - บริสุทธิ์
         - ประยุกต์
         - เชิงปฏิบัติการ
3. ใช้ลักษณะและวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง
                   - เชิงปริมาณ
                   - เชิงคุณภาพ
          4. ใช้ลักษณะศาสตร์และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง
- วิทยาศาสตร์
- สังคมศาสตร์
- มนุษยศาสตร์
5. ใช้วิธีการควบคุมตัวแปรเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง
- เชิงทดลอง
- เชิงกึ่งทดลอง
- เชิงธรรมชาติ   

ระเบียบวิจัยเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง
1.      การวิจัยเชิงประวัติศาสตร์ (Historical research) เป็นการวิจัยที่เน้นถึงการศึกษา
ค้นคว้า รวบรวมข้อมูลหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต (what was ?) ประโยชน์ของการวิจัย ชนิดนี้ก็คือ สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางในการศึกษาเหตุการณ์ต่าง ๆ ในปัจจุบัน หรือสามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจ เพื่อแก้ไขปัญหา ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ด้วย 
2.      การวิจัยเชิงบรรยาย หรือการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive research) เป็นการวิจัยที่เน้นถึงการศึกษารวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน (what is ?) ในการดำเนินการวิจัย นักวิจัยไม่สามารถที่จะไปจัดสร้างสถานการณ์หรือควบคุมตัวแปรต่าง ๆ ได้ตามใจชอบ การวิจัยแบบนี้เป็นการค้นคว้าหาข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว เช่น การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างเพศ และความสนใจต่อการเมือง มีการวิจัยหลายชนิดที่จัดไว้ว่าเป็นการวิจัยเชิงบรรยายได้แก่
2.1   การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey research)
2.2   การวิจัยเชิงสังเกต (Observational research)
2.3   การวิจัยเชิงเปรียบเทียบสาเหตุ (Causal Comparative)
2.4   การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ (Correlational research)
2.5   การศึกษาเฉพาะกรณี (Case study)
3.  การวิจัยเชิงทดลอง (experimental research) เป็นการวิจัยเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์เชิงเหตุผลของ ปรากฏการณ์ต่าง ๆ (what will be ?) โดยมีการจัดกระทำกับตัวแปรอิสระเพื่อศึกษาผลที่มีต่อตัวแปรตาม และมีการควบคุมตัวแปรอื่นมิให้มีผลกระทบต่อตัวแปรตาม ซึ่งนิยมมากทางด้านวิทยาศาสตร์ สำหรับทางด้านการศึกษา ค่อนข้างลำบาก ในแง่ของการควบคุมตัวแปรเกินลักษณะที่สำคัญของการวิจัยเชิงทดลองคือ
3.1   ควบคุมตัวแปรเกินได้ (Control)
3.2   จัดการเปลี่ยนแปลงค่าของตัวแปรอิสระได้ (Manipulation)
3.3   สังเกตได้ (Observation)
3.4   ทำซ้ำได้ (Replication)

ใช้จุดมุ่งหมายของการวิจัยเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง    
1.  การวิจัยบริสุทธิ์ (Pure research) หมายถึง การวิจัยที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อการตอบสนองความอยากรู้หรือมุ่งที่จะหาความรู้เท่านั้น โดยไม่ได้คำนึงว่าจะนำผลการวิจัยที่ได้ไปใช้ได้หรือไม่ การวิจัยประเภทนี้ก่อให้เกิดทฤษฎีใหม่ ๆ ตามมา
2.  การวิจัยประยุกต์ (Applied research) หมายถึง การวิจัยที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อนำผลการวิจัยที่ได้ไปใช้ใน การแก้ปัญหา หรือปรับปรุงความเป็นอยู่และสังคมของมนุษย์ให้ดีขึ้นได้แก่ การวิจัยทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง การศึกษาเป็นต้น
3.  การวิจัยเชิงปฏิบัติการหรือวิจัยเฉพาะกิจ (Action research) เป็นการวิจัยเพื่อนำผลมาใช้แก้ปัญหาอย่างรีบด่วนหรือปัจจุบันทันที ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเฉพาะเพื่อจะนำผลที่ได้มาใช้แก้ปัญหาเฉพาะเรื่องในวงจำกัด โดยไม่ได้สนใจว่าจะใช้ประโยชน์หรือแก้ปัญหาอื่นได ้หรือไม่
4.  การวิจัยสถาบัน (Institutional research) เป็นการวิจัยที่มุ่งนำผลการวิจัยมาใช้เพื่อปรับปรุงงานด้านการบริหารของหน่วยงานหรือ สถาบันนั้น ๆ โดยไม่มีจุดมุ่งหมายในการนำผลการวิจัยไปใช้กับหน่วยงานหรือสถาบันอื่น

ใช้ลักษณะและวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง
1.      การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) เป็นการวิจัยที่มุ่งค้นคว้าหาข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ต่าง ๆ ตามธรรมชาติ โดยพยายามที่จะศึกษาข้อมูลด้านต่าง ๆ มาบรรยายถึงความสัมพันธ์ของ เงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ การวิจัยเชิงคุณภาพนั้นเป็นการศึกษาค้นคว้าในแนวลึกมากกว่าแนวกว้าง การรวบรวมข้อมูล จะให้ความสำคัญกับข้อมูลที่เกี่ยวกับประวัติส่วนตัว แนวคิด ความรู้สึกต่าง ๆ ของแต่ละบุคคล วิธีการรวบรวมข้อมูล ได้แก่การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม การสัมภาษณ์แบบไม่เป็นทางการจะเป็นวิธีการหลักของการวิจัยเชิงคุณภาพ การวิเคราะห์ข้อมูล จะใช้วิธีการสรุปบรรยายทฤษฎีและแนวคิดต่าง ๆ ในการอธิบายและวิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ
2.      การวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) เป็นงานวิจัยที่มุ่งค้นคว้าข้อเท็จจริง ต่าง ๆ เพื่อหาข้อสรุปในเชิงปริมาณ เป็นการศึกษาในแนวกว้างมากกว่าแนวลึก เพื่อที่จะนำข้อสรุปต่าง ๆ ที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างอ้างอิงไปใช้กับกลุ่มประชากร โดยอาศัยวิธีการทางสถิติ การรวบรวมข้อมูล เน้นหนักไปในทางปริมาณหรือค่าต่าง ๆ ที่สามารถวัดได้ในเชิงปริมาณ วิธีการรวบรวม ข้อมูล มีหลายรูปแบบ เช่น การส่งแบบสอบถาม การสัมภาษณ์ การสังเกต การสร้างสถานการณ์สมมติการทดลองและการทดสอบ เป็นต้น การวิเคราะห์ข้อมูล จะใช้วิธีการทางสถิติเข้ามาใช้ใน การวิเคราะห์ข้อมูล

ใช้ลักษณะศาสตร์และสาขาวิชาที่เกี่ยวกับการวิจัยเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง
1. การวิจัยทางสังคมศาสตร์ ได้แก่ การวิจัยเกี่ยวกับสังคม การเมือง การปกครอง การศึกษา เศรษฐกิจ เป็นต้น
2. การวิจัยทางมนุษยศาสตร์ ได้แก่ การวิจัยเกี่ยวกับคุณค่าของมนุษย์ เช่น ภาษาศาสตร์ ดนตรี ศาสนา โบราณคดี ปรัชญา เป็นต้น
3. การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ได้แก่ การวิจัยทางชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ วิศวกรรม แพทย์ พยาบาล เทคนิคการแพทย์ เภสัชศาสตร์ เป็นต้น

ใช้วิธีการควบคุมตัวแปรเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง
1. การวิจัยเชิงทดลอง (Experimental research) เป็นการวิจัยเพื่อพิสูจน์ความสัมพันธ์เชิงสาเหตุ โดยมีการจัดสถานการณ์ทดลอง ด้วยการควบคุมระดับของตัวแปรต้น และกำจัดอิทธิพลของตัวแปรภายนอกต่าง ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องแล้ววัดผลตัวแปรตามออกมา
2. การวิจัยเชิงกึ่งทดลอง (Quasi Experimental research) เป็นการวิจัยที่สามารถควบคุมตัวแปรภายนอกที่ไม่ต้องการได้เพียง บางตัว เนื่องจากไม่สามารถสุ่มตัวอย่างให้เท่ากันได้
3. การวิจัยเชิงธรรมชาติ (Naturalistic research) เป็นการวิจัยที่ค้นหาความจริงของ สภาพการณ์ในสังคม ใช้การสังเกตการณ์เป็นสำคัญ และสรุปผลโดยใช้การวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประเมินค่าอนุมาน และอุปมาน       

ขั้นตอนในการวิจัย  
ในการวิจัยแต่ละประเภท อาจมีขั้นตอนแตกต่างไป ในที่นี้จะกล่าวถึงขั้นตอนในการวิจัยซึ่งไม่ได้หมายคลุมไปถึงว่าการวิจัยทุกประเภท ต้องมีขั้นตอนตามที่จะกล่าว ต่อไปนี้ ทุกประการ
1. เลือกหัวข้อปัญหา เป็นการตอบคำถามที่ว่าเราจะทำวิจัยเรื่องอะไร ซึ่งจะต้องพิจารณาให้รอบคอบด้วยความมั่นใจและเขียนชื่อเรื่องที่จะ วิจัยออกมา
2. การกำหนดขอบเขตของปัญหา เมื่อได้ปัญหาที่จะทำการวิจัยแน่นอนแล้วควรจะกำหนดขอบเขตของ ปัญหาให้ชัดแจ้ง เนื่องจากการกำหนดปัญหาที่แน่นอนช่วยผู้วิจัยได้ดังนี้
2.1   วางแผนรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีการต่าง ๆ ที่เหมาะสม
2.2   รู้ถึงเทคนิคต่างๆ ที่เหมาะสมในการเลือกกลุ่มตัวอย่าง สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ตลอดจน การแปลผลการวิจัย
2.3   มองเห็นภาพอย่างแจ่มชัดว่าจะต้องทำอะไรบ้าง
3.  การศึกษาเอกสารและผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง โดยการศึกษาสาระความรู้ แนวคิด ทฤษฎี และผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นในตำรา หนังสือ วารสาร รายงานการวิจัยและเอกสาร อื่น ๆ ซึ่งจะมีประโยชน์ต่อผู้วิจัยในข้อต่อไปนี้
1)      ช่วยให้ไม่เกิดการซ้ำซ้อนในการวิจัย
2)      ช่วยให้กำหนดขอบเขตของการทำวิจัยได้ถูกต้องชัดเจน (กรอบแนวคิด)
3)      ได้แนวทางในการกำหนดสมมุติฐาน (กรณีที่มีสมมุติฐาน)
4)      ได้แนวทางในการสร้างเครื่องมือเพื่อรวบรวมข้อมูล
5)      ได้แนวทางในการสุ่มตัวอย่าง
6)      ได้แนวทางในการใช้ค่าสถิติในการวิเคราะห์ข้อมูล
7)      ได้แนวทางการแปลผลการวิจัยและการเขียนรายงานการวิจัย
4. การกำหนดสมมุติฐาน หมายถึง การเขียนข้อความที่เป็นข้อคาดหวังเกี่ยวกับความ แตกต่างที่อาจเป็นไปได้ ระหว่างตัวแปรต่าง ๆ ซึ่งสมมุติฐานนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นจริงเสมอไป
5. การเขียนเค้าโครงการวิจัย การเขียนเค้าโครงการวิจัยเป็นขั้นตอนที่สำคัญขั้นหนึ่ง เนื่องจากเค้าโครงการวิจัยนั้นจะเป็นแบบแผนในการดำเนินงานวิจัย อย่างมี ระบบ ควร จะ ประกอบด้วย
1)      ชื่องานวิจัย
2)      ภูมิหลังหรือที่มาของปัญหา
3)      วัตถุประสงค์
4)      ขอบเขตของการวิจัย
5)      ตัวแปรต่าง ๆ ที่วิจัย
6)      คำนิยามศัพท์เฉพาะ (ในกรณีที่จำเป็น)
7)      สมมุติฐาน (ถ้ามี)
8)      วิธีดำเนินการวิจัย
9)      รูปแบบของงานวิจัย
10)  การสุ่มตัวอย่าง
11)  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
12)  การวิเคราะห์ข้อมูล
13)  แผนการทำงาน
14)  งบประมาณ
6. การสร้างเครื่องมือรวบรวมข้อมูล ก่อนที่จะดำเนินการรวบรวมข้อมูล ผู้วิจัยจะต้องทราบว่า จะใช้เครื่องมืออะไรในการเก็บรวบรวมข้อมูล และเครื่องมือนั้นมีหรือยัง ถ้ายังไม่มีต้องดำเนินการสร้างและนำเครื่องมือนั้นไป ทดลองใช้ เพื่อหาคุณภาพของเครื่องมือ อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยไม่จำเป็นต้องสร้างเครื่องมือรวบรวมข้อมูลเองเสมอไป กรณีที่ทราบว่ามีเครื่องมือที่สร้างขึ้นอย่างเป็นมาตรฐานเหมาะสมกับการที่จะนำไปใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ก็อาจยืมเครื่องมือดังกล่าวมาใช้ได้ถ้าสงสัยในเรื่องคุณภาพของเครื่องมือ เนื่องจากสร้างไว้นานแล้วก็อาจนำมาทดลองใช้และวิเคราะห์หาคุณภาพใหม่อีกครั้งหนึ่งเมื่อพบว่ามีคุณภาพเข้าเกณฑ์ก็นำมาใช้เก็บรวบ รวมข้อมูลได้ (การวิจัยบางเรื่องอาจไม่ใช้เครื่องมือรวบรวมข้อมูลที่เป็นแบบแผนก็จะตัดขั้นตอนนี้ออกไป)
7. ขั้นดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล ในการดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลผู้วิจัยจะต้องทราบว่าในการทำการวิจัยนั้นสามารถจะรวบรวมข้อมูลจากกลุ่ม ประชากรทั้งหมด หรือ สุ่มตัวอย่าง ซึ่งในการสุ่มตัวอย่างนั้นก็ต้องทราบว่าจะต้องสุ่มตัวอย่างโดยวิธีการใดที่จะให้ได้กลุ่มตัวอย่างที่เป็นตัวแทนที่ดีของ กลุ่มประชากร ข้อมูลที่ผู้วิจัยจะทำการรวบรวมนั้นมาจากไหน ปฐมภูมิ (Primary Source) หรือทุติยภูมิ (Secondary Source)
วิธีการรวบรวมข้อมูลที่นิยมใช้ในการวิจัยทางการศึกษา ได้แก่
1)      การใช้แบบทดสอบ
2)      การใช้แบบวัดเจตคติ
3)      การส่งแบบสอบถาม
4)      การสัมภาษณ์
5)      การสังเกต
6)      การใช้เทคนิคสังคมมิติ
7)      การทดลอง
8)      การจัดกระทำข้อมูล (Data Processing) การจัดกระทำข้อมูลเป็นวิธีการดำเนินการอย่างมีระบบตามลำดับขั้น กับข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุผลสำเร็จตามความมุ่งหมาย




การจัดกระทำข้อมูล
1.  Input เป็นการจัดเตรียมข้อมูลเพื่อการวิเคราะห์ เช่น การบันทึกรอยคะแนน การลงรหัสข้อมูล การถ่ายข้อมูล ลงคอมพิวเตอร์ เป็นต้น
2. Processing เป็นขั้นตอนของ การจัดแบ่งประเภทของข้อมูล สำหรับการวิจัย เชิงคุณภาพและเป็นขั้นตอนการคำนวณ สำหรับการวิจัย เชิงปริมาณ ซึ่งในขั้นตอนนี้อาจจะคำนวณด้วยมือ ใช้เครื่องคิดเลข หรือใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นอยู่กับปริมาณของข้อมูลและปัจจัยเอื้ออำนวย
3. Output เป็นขั้นตอนที่นำผลจากการขั้นตอนที่ได้จากขั้น Processing มาเขียนเป็นรายงาน หรือเสนอในรูปแบบของตารางหรือแผนภูมิต่างๆ แล้วแปลความหมายของผลที่ได้  
4.  การสรุปผลการวิจัยและเขียนรายงาน  ขั้นนี้จะเป็นขั้นสุดท้ายของการวิจัย โดยการสรุปผลการวิจัย และเขียนรายงานการวิจัย ซึ่งโดยทั่วไปในรายงานการวิจัยจะประกอบด้วย   
1)      บทนำ ซึ่งประกอบด้วยความสำคัญและความเป็นมาของปัญหา วัตถุประสงค์ในการวิจัย สมมติฐานในการวิจัย ขอบเขตของการวิจัย ข้อตกลงเบื้องต้น ความไม่สมบูรณ์ของการวิจัยและคำนิยามศัพท์เฉพาะ
2)      การตรวจสอบเอกสาร
3)      วิธีการดำเนินการวิจัย ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มประชากร กลุ่มตัวอย่าง วิธีการสุ่ม ตัวอย่าง เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล และขั้นตอนการดำเนินการรวบรวมข้อมูล ตลอดจนวิธีการวิเคราะห์ข้อมูล
4)      ผลการวิจัย
5)      สรุปผลการวิจัย อภิปรายผลและข้อเสนอแนะ

เอกสารอ้างอิง1

fe .................................. fe




เอกสารประกอบการสอน
วิชา  ระเบียบวิธีการวิจัยทางนิติศาสตร์


หัวข้อ
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการวิจัย



โดย
รศ.พ.ต.อ.หญิง ดร.พัชรา  สินลอยมา



คณะวิทยาศาสตร์  สาขานิติวิทยาศาสตร์  
มหาวิทยาลัยศิลปากร
ภาคเรียนที่  2  ปีการศึกษา 2551





สารบัญ

fe…………………..……………. fe


                                                                                                                        หน้า

วิธีการเสาะแสวงหาความรู้                                                                       1
ขั้นตอนของวิธีการแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์                                                 3
ขั้นตอนของวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ใช้แก้ปัญหาทางการศึกษา                           4
ความหมายของการวิจัย                                                                          4
ลักษณะที่สำคัญของการวิจัย                                                                     5 
ข้อจำกัดของการวิจัยทางการศึกษา                                                             6
ประโยชน์ของการวิจัย                                                                             6
การจัดประเภทการวิจัย                                                                           6
ระเบียบวิจัยเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง                                                                7
ใช้จุดมุ่งหมายของการวิจัยเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง                                              8
ใช้ลักษณะและวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง                                    8
ใช้ลักษณะศาสตร์และสาขาวิชาที่เกี่ยวกับการวิจัยเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง                    9
ใช้วิธีการควบคุมตัวแปรเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง                                                 9
ขั้นตอนในการวิจัย                                                                                 9
การจัดกระทำข้อมูล                                                                               12
เอกสารอ้างอิง                                                                                      12









· อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ สาขานิติวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร


No comments:

Post a Comment