ข้อสอบออนไลน์ชุดใหม่ล่าสุด

Monday, March 2, 2015

ภาค ค 4.การมีปฎิภาณไหวพริบ

ภาค ค 4.การมีปฎิภาณไหวพริบ

การพูดจูงใจ
            การพูดเพื่อชักจูงใจ  เป็นการพูดเพื่อให้ผู้ฟังได้รู้  เพื่อให้ผู้ฟังเชื่อและเพื่อให้ผู้ฟังเห็นด้วยทั้งทางความคิดและการกระทำตามความมุ่งหมายของผู้พูด
            เป็นการพูดให้ผู้ฟังมีความเห็นคล้อยตามและปฏิบัติตาม  เป็นการพูดอย่างมีเหตุผล เพื่อโน้มน้าวจิตใจ  เกลี้ยกล่อมชักจูงให้ผู้ฟังคล้อยคาม
            จุดมุ่งหมายของการพูดจูงใจ  เพื่อชักจูงให้ผู้ฟังเห็นด้วย  คล้อยตามในข้อเรียกร้อง วิงวอนหรือข้อประท้วง  เพื่อให้เปลี่ยนความเชื่อความคิด  เพื่อกระตุ้นอารมณ์ให้ทำหรือปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่ง
           


หลักการพูดจูงใจ
๑.      ให้ผู้ฟังสนใจในการพูด
๒.      ทำให้ผู้ฟังไว้วางใจ   และมีศรัทธาในถ้อยคำของผู้พูด
๓.      บรรยายถึงเหตุผล  ข้อเท็จจริง  เพื่อเป็นความรู้แก่ผู้ฟังเกี่ยวกับคุณค่าของปัญหาที่นำมาแสดง
๔.     พูดด้วยการวิงวอนคน  จูงใจให้ผู้ฟังปฏิบัติตาม  กล่าวถึงประโยชน์ที่จะได้รับ

ปฏิภาณไหวพริบ
            ในขณะที่ผู้พูดกำลังจะพูด หรือดำเนินการพูดอยู่  อาจมีปัญหาเฉพาะหน้าเกิดขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นในการสัมมนา  การพูดกับฝูงชน  การอภิปราย  หรือการตอบข้อสงสัยหลังการพูด   ปัญหาที่   ไม่คาดคิดต่าง ๆ นี้  ผู้พูดจะต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบเพื่อแก้ไขให้การพูดเป็นไปด้วยดี   เช่น
            ๑.    เมื่อผู้ฟังแสดงความไม่พอใจหรือไม่เป็นมิตรกับผู้พูด   จงยิ้ม  เพราะการยิ้มแสดงถึงความรัก  ความชอบ  ความเป็นมิตร  ผู้ฟังก็จะมีไมตรีตอบผู้พูด
            ๒.   เมื่อผู้ฟังหรือคู่สนทนาโต้เถียงกับท่าน   จงหลีกเลี่ยงการโต้เถียง  เพราะจะเป็นผลให้เกิดโทษและทำลายอำนาจบังคับตนเอง    ควรรู้จักผ่อนสั้นผ่อนยาว  ใช้ความสุขุมรอบคอบ  ประนีประนอม  และเห็นอกเห็นใจ  ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นแง่คิดของอีกฝ่ายหนึ่งได้ การอ่อนน้อมถ่อมตนจะช่วยให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมรับความคิดเห็นของเราง่ายขึ้น  และมีการโต้แย้งน้อยลง
            ๓.   เมื่อผู้ฟังหรือคู่สนทนาตำหนิติเตียนหรือกล่าวโทษท่าน  จงพูดปรักปรำลงโทษตัวเองในประการต่าง ๆ   ซึ่งจะเป็นการลดความขุ่นเคืองของผู้ฟังลงได้  การกระทำเช่นนี้  จะเป็นการจูงใจให้เขาเป็นคนใจกว้าง  เปลี่ยนท่าทีโอนอ่อนไปในทางที่ให้อภัย และเห็นความผิดของเราเป็นสิ่งเล็กน้อย  จงใช้วิธีสุภาพอ่อนโยน  นุ่มนวล  แสดงความเป็นมิตร


            ๔.   เมื่อพูดกับฝูงชนที่กำลังคลั่งแค้นในลักษณะที่บ้าคลั่ง   จงหลีกเลี่ยงการให้เหตุผลเมื่อแรกพบ    วิธีที่ดีที่สุดคือ  พยายามพูดให้ฝูงชนรู้สึกว่าเราเห็นใจเขา และเป็นฝ่ายเดียวกับเขา     พร้อมกับพยายามพูดชักจูงเพื่อเบนความสนใจหรือได้คิดได้ไตร่ตรอง จากนั้นจึงเสนอแนะให้    พวกเขาหาทางออกด้วยวิธีอื่นต่อไป
            ๕.   เมื่อพูดกับฝูงชนที่เสนอข้อเรียกร้อง   ผู้พูดจะต้องตั้งสติให้มั่น  อย่าแสดงอาการตกใจหรือรู้สึกหวาดหวั่นมากเกินไป  เมื่อสอบถามถึงข้อเรียกร้องแล้ว  ไม่ควรจะตอบรับหรือตอบปฏิเสธทันที  ควรพูดรับแต่เพียงว่า  จะขอรับข้อเสนอทั้งหมดไว้ให้ผู้มีอำนาจพิจารณา                หรือหากท่านเป็นผู้มีอำนาจสูงสุด   อาจตอบอย่างมีความหวังว่า   ขอรับข้อเรียกรร้องทั้งหมดนี้   ไว้พิจารณา และจะให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคน
            ๖.   เมื่อพูดกับฝูงชนที่บีบคั้นให้ตอบคำถามที่ไม่มีทางเลือก   เช่น  จะจัดการหรือไม่   จะทำหรือไม่   จะเพิ่มเติมหรือไม่   หรือ   จะแก้ไขหรือไม่    ควรตอบว่า   ตนยังไม่ทราบข้อเท็จจริง จะต้องทราบข้อเท็จจริงเสียก่อนจึงจะตอบให้ทราบ โดยพยายามใช้คำพูดแสดงความตั้งใจที่จะช่วยเหลือ และให้ความร่วมมือ   เช่น พูดว่า เห็นใจเขา   เข้าใจพวกเขาดี จะพยายามหาหนทางแก้ไขโดยเร็วที่สุด  จะประชุมกรรมการด่วน จะพิจารณาให้คำตอบโดยเร็วที่สุด  เป็นต้น
            ๗.   เมื่อสังเกตเห็นว่าผู้ฟังรู้สึกเบื่อหน่าย  ไม่สนใจในเรื่องที่ผู้พูดกำลังพูด  แต่กลับไปทำสิ่งอื่นเสีย  เช่นอ่านหนังสือ เขียนหนังสือ มองออกนอกหน้าต่าง คุยกัน เช่นนี้  ผู้พูดควรเปลี่ยนวิธีพูดเสียใหม่  เช่น  พูดให้เร็วขึ้น  รวบรัดเข้าสู่จุดสำคัญเร็วขึ้น  หรือเพิ่มอารมณ์ขันแทรกเข้าไป

            กล่าวโดยสรุป  ตลอดเวลาที่พูด ผู้พูดควรใช้ไหวพริบสังเกตอากัปกริยาของผู้ฟัง  สังเกตความรู้สึกที่มีต่อเรื่องที่พูด   ถ้าสังเกตเห็นว่าผู้ฟังมีปฏิกริยาตอบในทางที่ไม่พึงประสงค์  ผู้พูดต้องใช้ปฏิภาณไหวพริบแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้านั้นได้ทันท่วงที    การพูดจึงจะประสบผลสำเร็จ


https://jennykr.wordpress.com/2008/07/12/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9E%E0%B8%B9%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B9%E0%B8%87%E0%B9%83%E0%B8%88%E0%B8%9B%E0%B8%8F%E0%B8%B4%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%93%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%9E%E0%B8%A3/


No comments:

Post a Comment